วิชา : อพอ7002 ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการแปล
คณะ : คณะภาษาและการสื่อสาร
หลักสูตร : ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาอังกฤษเพื่อการพัฒนาอาชีพ)

การเรียนการสอน : ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2566
วัน-เวลาเรียน : วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 16.00 น.

คำอธิบายรายวิชา :

วิชานี้มุ่งเน้นการสอนเชิงปฏิบัติการแปลระดับคำ ระดับสำนวน วลี และประโยค โดยอิงรูปแบบไวยากรณ์ที่เหมาะสมกับเอกสารและสื่อรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพด้านภาษาและการแปล รวมทั้งสร้างเสริมความรู้เชิงทฤษฎี เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลแก่การทำงานด้านการแปลภาษาในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเป็นระบบ

หลักการและเหตุผล (Rationale)

ในยุคโลกาภิวัตน์และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง การติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติเป็นสิ่งจำเป็นในระดับสังคมและวิชาชีพ ทั้งระดับภายในประเทศและภายนอกประเทศ  ภาษาอังกฤษจึงสำคัญในฐานะภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสาร ดังนั้น ทักษะการแปลภาษาอังกฤษสำหรับความเข้าใจที่มากขึ้น เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมเป็นที่พึงปรารถนาของปัจเจกบุคคลและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย   ความรู้ทางศัพท์ สำนวน ตลอดจนไวยากรณ์เพื่อการสื่อสาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแปลนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน

 ผู้เรียนจะมีโอกาสศึกษาแบบแผนการแปลอย่างมีหลักการตามทฤษฎี และเรียนรู้กรณีศึกษาการแปลที่น่าสนใจ  เนื้อหาวิชาครอบคลุมทฤษฎีทางภาษาและอรรถศาสตร์เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการแปล รวมทั้งแนะนำวิธีประยุกต์ทฤษฎีเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการฝึกปฏิบัติการแปลจากเอกสารในหลากหลายสาขาอาชีพ โดยมีการเน้นย้ำจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติที่พึงประสงค์ของสาขาอาชีพการแปลภาษา

 วัตถุประสงค์ของวิชา (Course Objectives) 

 ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทฤษฎี รูปแบบและกลยุทธ์การแปลภาษา ตลอดจนมีพัฒนาการด้านการแปลคู่ภาษาอังกฤษ-ไทย  สามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้  และสามารถวิเคราะห์ประเด็นปัญหาการแปลภาษาอังกฤษเป็นไทย และภาษาไทยเป็นอังกฤษ รวมทั้งเข้าใจวัฒนธรรมในการใช้ภาษาและการสื่อสารผ่านการแปล โดยสร้างความเข้าใจศาสตร์การแปลและนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้เชิงทฤษฎีและทักษะการแปลงานที่หลากหลายอันจะเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาและต่อการทำงานในทุกระดับ

 รูปแบบการสอน (Course Design/Channel)

เป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหลัก โดยอาจมีการเรียนในชั้นเรียนปกติบ้าง หากผู้เรียนแสดงความจำนงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

 ประวัติผู้สอน (คลิกตาม link ด้านล่างนี้)

https://www.arts.chula.ac.th/AlumWeb/100years/DetailArts.php?id=232&group=58

ผู้สอน :

  • ผศ.ดร.อรองค์ ชาคร